← Back Published on

Norman Fucking Rockwell! กวีนิพนธ์บทใหม่จาก ลาน่า เดล เรย์

20.11.62

เขียนโดย Neeranat Lumnoi

รางวัลแกรมมี่ หรือ Grammy Awards ครั้งที่ 62 รางวัลเกียรติยศสูงสุดแห่งวงการเพลง ที่จะจัดขึ้นวันที่ 27 มกราคม 2563 ในช่วงเช้าตามเวลาบ้านเรา ได้ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงออกมาวันนี้ (20 พฤศจิกายน 2562) แน่นอนว่าสาขาที่ทุกคนจับตามองกันทุกปี รางวัลใหญ่ที่สุดที่ทุกศิลปินหมายปอง ‘Album of the Year’ ที่ผู้เข้าชิงปีนี้สมน้ำสมเนื้อ ได้แก่ อัลบั้มของ Ariana Grande, Billie Eilish, H.E.R., Bon Iver, Lizzo, Vampire Weekend, Lil Nas X และอัลบั้ม Norman Fucking Rockwell! ของ Lana Del Rey ที่สื่อหลายสำนักต่างก็เก็งกันยกใหญ่ ว่าเธอมีโอกาสได้แกรมมี่ตัวแรกจากอัลบั้มนี้เป็นแน่!

ภาพปกอัลบั้ม Norman Fucking Rockwell!

‘Norman Fucking Rockwell!’ อัลบั้มชุดที่ 6 จากศิลปินหญิงวัย 34 ปี ‘Lana Del Rey’ ผู้ได้รับสมญานามว่า พระแม่ลาน่า เดล เรย์ โดยอัลบั้มชุดนี้ ลาน่ายังคงมองหาความแปลกใหม่เติมเต็มลงไปเสมอ เห็นได้จากการดึง Jack Antonoff (แจ็ค แอนโตนอฟฟ) ผู้ที่ฝากฝีไม้ลายมือเอาไว้กับอัลบั้มที่ได้รับคำวิจารณ์อันยอดเยี่ยม ทั้ง Melodrama ของ Lorde, Reputation และ Lover ของ Taylor Swift และ Masseduction ของ St. Vincent แจ็คเข้ามาร่วมแต่งเพลงและโปรดิวซ์ ทั้งคู่ใส่เอกลักษณ์ของตนเองลงไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ด้วยความสามารถด้านดนตรีของแจ็ค ทำให้อัลบั้มนี้แทบไม่ต้องใช้นักดนตรีจากที่อื่นเลย เพราะแจ็คสามารถเล่นได้เกือบทุกเครื่องดนตรี ส่วนลาน่ายังคงมีลูกเล่นการแต่งเพลงให้น่าค้นหา ทำให้อัลบั้มนี้ได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากนักฟังเพลงทั่วทั้งโลก อย่างเว็บไซต์นักวิจารณ์ Metacritic ให้คะแนนที่ 87/100, ถูกจัดให้เป็นอันดับที่ 2 อัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี 2019 จาก Pitchfork และอันดับที่ 15 อัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดในยุค 2010s จาก Uproxx รวมถึงบทบาทบนชาร์ต Billboard Hot 200 ที่สามารถทะยานไปถึงอันดับที่ 3 ท่ามกลางบรรดาเพลงแร็ปและเพลงป็อปกระแสหลัก

“ความสามารถของแจ็คมันบ้าคลั่งมาก ความเป็นนักดนตรีของเขามันเข้ากับความสามารถในการสร้างทำนองเพลงที่สวยงามของฉันเลย ดังนั้นพวกเราจึงทำเพลงได้ไวมาก”

– Lana Del Rey -

Jack Antonoff และ Lana Del Rey

ปกอัลบั้มของลาน่าครั้งนี้ ดึงดูดสายตาด้วยสีฉูดฉาดและการโพสท่าที่แสนเก๋ของลาน่า เธอเปลี่ยนจากถ่ายคู่กับรถยนต์คู่ใจ มาเป็นบนเรือใบคู่กับชายหนุ่มปริศนา โดยทราบภายหลังว่าเขาคือ Duke Nicholson หลานชายแท้ๆ ของนักแสดงออสการ์ Jack Nicholson นั่นเอง เรือถูกประดับด้วยธงชาติอเมริกัน เหมือนเธอกำลังบอกเป็นนัยว่า อัลบั้มนี้จะบอกเล่าวิถีของอเมริกันชนเป็นแน่

ชื่ออัลบั้มมาจากจิตรกรชาวอเมริกันผู้โด่งดังจากการวาดภาพวิถีชีวิตของชาวอเมริกัน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ‘Norman Rockwell’ เขาสามารถวาด ‘American Dream’ ได้อย่างถึงแก่น ทำให้เขาครองใจคนในยุคนั้น ภาพที่เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเห็นผ่านตาคือ ภาพ Freedom From Want หรือที่รู้จักในชื่อ Picture Thanksgiving

ภาพ Norman Rockwell จาก www.biography.com

ภาพ Freedom From Want จาก www.artsy.net

หากนอร์มัน ร็อกเวลล์ เป็นศิลปินขวัญใจคนอเมริกันในยุคนั้น ลาน่าก็เป็นหนึ่งในนักแต่งบทกวีผ่านเสียงเพลงที่ครองใจคนยุคนี้

Prelude

“Goddamn, Man-child” ประโยคแรกจากเพลงแรก ใช้ชื่อเดียวกันกับอัลบั้ม ตีหัวเข้าบ้านด้วยเสียงเปียโนและเครื่องสายที่ผสมผสานอย่างกลมกลืน บอกเล่าถึงเด็กหนุ่มธรรมดา ที่พาปัญหามาให้คุณเสมอ แต่คุณกลับหลงใหลเขามากๆ “จะรอสิ่งที่ดีที่สุดทำไมล่ะ? ในเมื่อฉันมีคุณ”

จบเพลงแรกด้วยเสียงของลาน่าที่ยังคงโหยหวนบาดลึก และเรียงร้อยอย่างราบรื่นไปจนถึงเพลงที่ 2 ‘Mariners Apartment Complex ซึ่งถูกปล่อยออกมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังคงเป็นเพลงที่หลายคนเลือกฟังซ้ำอยู่บ่อยๆ ด้วยตัวเพลงที่ค่อนข้างฟังง่าย เมื่อเทียบกับเพลงอื่นของลาน่า เสียงกระซิบทรงเสน่ห์บวกกับเสียงกีตาร์ที่โดดเด่น ทำให้ท่อนหลัก “Don’t look too far, right where you are, that’s where I am. I’m your man.” น่าประทับใจจนต้องย้อนกลับมาฟังซ้ำ

We’re American-made

ลาน่าเริ่มกระโดดเข้าสู่โหมดสาวแคลิฟอร์เนียอย่างเป็นทางการ สาวก๋ากั่นแห่งหาดเวนิซ กับเพลงมหากาพย์ยาว 9 นาที ‘Venice Bitch’ เสียงดนตรีที่เริ่มจากฟังสบายแล้วค่อยๆ พุ่งด้วยการโซโล่กีตาร์ยาวๆ แบบไม่ปราณีคนฟัง ลาน่าบอกว่า ช่วงสิ้นสุดฤดูร้อน คนก็ต้องอยากหลงอยู่ในเสียงกีตาร์ขณะขับรถ หากยังไม่หนำใจกับหน้าร้อน ‘Doin’ Time’ เพลงร็อคปี 1996 จากวง Sublime ที่ลาน่านำมา Cover โดยทำดนตรีให้เข้ากับบรรยากาศริมชายหาดโดยเฉพาะ ได้อารมณ์ไปอีกแบบ “I do love Sublime so much, probably one of the few things that I don’t want to fuck up” นี่คือเหตุผลที่ทำให้ลาน่าสามารถ cover เพลงนี้ได้ดีไม่แพ้ต้นฉบับ

‘The Next Best American Record’ สาธยายถึงเมืองมาลิบู ที่ที่ชายคนรักร่วมแต่งเพลงอเมริกันร่วมกับลาน่า แถมเพลงนี้ยังกล่าวถึงวงร็อคในตำนานอย่าง Led Zeppelin และ Eagles เพลงต่อไป ‘The greatest’ เป็นการเผชิญหน้ากับภาระที่ยิ่งใหญ่ ทำให้ลาน่าโหยหาผองเพื่อนและบ้านเกิดที่นิวยอร์ก “อย่าหนีไปไหนเลยนะ ฉันแค่ต้องการคนโทรปลุก” ฟังแล้วเจ็บปวดไม่น้อย

“Oh, I’ll pick you up. If you come back to America, just hit me up” ในฐานะเจ้าบ้านที่ดี ลาน่าจึงอาสาพาแฟนเก่าเที่ยวทั่วแคลิฟอร์เนีย เพราะนี่คือเพลง ‘California’ ในขณะเดียวกัน กลับดึงให้ผู้ฟังคิดถึงบ้านเกิด แล้วเธอก็สอนให้ไม่ต้องพยายามทำตัวเข้มแข็งกว่าที่เป็น และแฟนเพลงของลาน่าหลายคนยกให้เพลงนี้เป็นเพลงที่ดีที่สุดในอัลบั้มเลยทีเดียว

The Sound of Love Song

แน่นอนว่า แฟนเพลงลาน่าต้องรอคอยให้เธอมาพร่ำพรรณานาถึงความรัก ลาน่าก็เอาใจคนฟังด้วย‘Love song’ บรรเลงด้วยเปียโนช้าๆ แต่เนื้อหาโรแมนติกเหลือเกิน “เธอก็รู้ว่าฉันยอมตายเพื่อให้เธอภูมิใจ ทุกรสสัมผัสมันคือเพลงรักของเรา” ‘Bartender’ ลึกลับและน่าค้นหา “bar-t-t-tender Ha, ha, ha, ha” เสียงของลาน่ามีเสน่ห์ที่สุด ชวนให้คิดถึงเพลง Summertime Sadness อยากรู้เสียจริง ว่าบาร์เทนเดอร์ผู้นั้นคือใคร หรือท่อนที่หลายคนประทับใจอย่าง “ช่างแม่* ก็ฉันรักคุณอะ!” ในเพลง ‘Fuck it I Love you’

พลิกไปสู่โหมดความรักหวานขม ความสัมพันธ์ตึงเครียด ‘Cinnamon Girl’ ที่เปรียบความรักเป็นอบเชย ประกอบกับเสียงดนตรีอันยิ่งใหญ่ ตรึงคนฟังได้อยู่หมัด ‘How to disappear’ เพลงโดดเด่นด้วยเสียงแทมบูรีน ให้ความรู้สึกสดใสแบบวันคริสต์มาส แต่ลาน่าหักหลังคนดูด้วยการทำให้มันเป็นเพลงเศร้า บอกเล่าความรู้สึกเกี่ยวกับพวกผู้ชายที่จัดการชีวิตตัวเองไม่ได้ แต่พวกเขากลับให้แรงบันดาลใจเธอ ถึงแม้ว่าเขาจะจากไปนานแล้วก็ตาม

Epilogue

สองเพลงช้าสุดท้าย ด้วยเสียงเปียโนบรรเลง เข้ากันกับเนื้อเพลงความหมายลึกซึ้ง ทำให้เป็นการส่งท้ายอัลบั้มอย่างสวยงาม ‘Happiness is a butterfly’ ความสุขก็เหมือนกับผีเสื้อ ยิ่งไขว่คว้ามันยิ่งห่างออกไป นอกจากนี้ยังอัดแน่นไปด้วยประโยคสุดคมคาย เช่น “If he's a serial killer, then what's the worst that can happen to a girl who's already hurt?”

ปิดท้ายด้วยเพลงที่ชื่อยาวที่สุดประจำปี ‘hope is a dangerous thing for a woman like me to have – but I have it’ ที่ตอกย้ำความเป็นนักกวีของลาน่า เธอบอกลาคนฟังด้วยเนื้อหาที่เศร้าสร้อย การยกแนวคิดของ Sylvia Plath นักกวีชาวอเมริกันที่เผชิญกับความสิ้นหวัง และฆ่าตัวตายในวัย 30 ปี ทำให้เพลงนี้ทรงพลังมากขึ้น ลาน่ากำลังบอกทุกคนว่า ถึงแม้ความทุกข์ทรมานมันถาโถมเข้ามาเรื่อยๆ เธอก็หวังว่ามันจะหายไปสักวันหนึ่ง

กว่า 67 นาทีจากอัลบั้ม Norman Fucking Rockwell! เปี่ยมไปด้วยบทเพลงคุณภาพและลาน่ายังคงเอกลักษณ์ของเธอไว้ คือ เนื้อเพลงที่ต้องอาศัยการตีความและใช้สมาธิในการฟัง แต่สิ่งนี้ ช่วยดึงอารมณ์ผู้ฟังให้อยู่ในภวังค์ ราวกับต้องมนต์สะกด สำหรับรางวัลแกรมมี่ครั้งที่ 62 ก็ต้องมาลุ้นกันต่อไป แต่ถึงแม้จะได้รับรางวัลหรือไม่ก็ตาม ลาน่าได้เตรียมตัวแต่งเพลงสำหรับอัลบั้มหน้าแล้ว ไม่ต้องให้แฟนเพลงรอนาน โดยจะปล่อยในปีหน้า มีชื่อว่า White Hot Forever